ประวัติสำนักการจราจรและขนส่ง
                 
                  กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเป็นศูนย์รวมความเจริญทุกด้านของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษา การเมือง การปกครอง รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลาย การเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาของทุกด้าน ทำให้มหานครแห่งนี้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วภูมิภาคของประเทศและจากนานาชาติให้เข้ามาทำการค้า การลงทุน และประกอบอาชีพ ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากการตั้งถิ่นฐานแบบกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้าง ไม่เป็นระบบผังเมืองที่ดี ทำให้เกิดปัญหาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านการจราจร จำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นผิวจราจรมีอยู่จำกัด ประกอบกับระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และคนบางส่วนขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนน จึงทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพชีวิต และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
                  การจัดการจราจรและขนส่งในเขตกรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการอย่างมีแผนและเป็นระบบ ใน พ.ศ. 2514 เมื่อรัฐบาลเยอรมันได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทยภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสอง โดยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญในนามบริษัท F.H.Kocks Consulting Engineering Rhein Ruhring, GMBH, มาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยในการสำรวจพิจารณาความเหมาะสม และวางแผนการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งในพ.ศ. 2516 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษตามข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญ คือ “สำนักงานวิศวกรรมจราจรกรุงเทพมหานคร” ขึ้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่ด้านการออกแบบวางผังเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รวมทั้งวางระบบขนส่งมวลชนในอนาคต ต่่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 จึงได้กำหนดให้เป็นส่วนราชการระดับกอง ภายใต้ชื่อ “กองวิศวกรรมจราจร” สังกัดสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518 ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “สำนักการจราจรและขนส่ง” หรือ สจส. ตามประกาศกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2536 โดยมีภารกิจเกี่ยวกับการศึกษา สำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ วางแผน ออกแบบ พัฒนาระบบโครงข่ายถนน ระบบการจราจรและขนส่งสินค้าและมวลชน พร้อมทั้งส่งเสริมความปลอดภัยด้านการจราจรและขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร

email :bmatraffic@gmail.com