สจส. ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ThaiRAP แถลงผลงานโครงการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานครด้วยมาตรฐานนานาชาติ (iRAP)


วันนี้ (16 พฤษภาคม 2567) นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการแถลงผลงานโครงการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานครด้วยมาตรฐานนานาชาติ (iRAP) ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับ iRAP ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานครให้ผ่านระดับความปลอดภัย 3 ดาว โดยมีคณะผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงผลงาน ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำเสนอข้อมูลด้านความสำคัญของการประเมินความปลอดภัยทางถนนด้วย iRAP และ ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล ผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP ได้นำเสนอภาพรวมของโครงการให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้รับทราบ นอกจานี้ยังได้รับเกียรติจากคุณเกริกฤทธิ์ ศรีรุ่งวิกรัยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนนำเสนอแนวทางการนำ iRAP มาใช้ประเมินระดับความปลอดภัย (Star Rating) ถนนนำร่องในกรุงเทพมหานคร และนายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง นำเสอนข้อมูลการต่อยอดผลการดำเนินโครงการ

ซึ่งผลการศึกษาของโครงการนี้สามารถนำไปสู่แผนในการยกระดับความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ การควบคุมความเร็วที่เหมาะสมโดยเฉพาะบริวณที่เป็นชุมชนหนาแน่น รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยบริเวณทางแยกด้วยการจัดการช่องจราจร และปรับไฟจราจรให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทางทุกกลุ่ม โดยแบ่งเป็น 2 ระยะได้แก่ มาตรการในระยะสั้น ประกอบด้วย การทาสี ตีเส้นจราจรให้ชัดเจน การกำจัดสิ่งกีดขวางหรือบดบังการมองเห็น รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เสาล้มลุก หรือป้ายเตือนต่าง ๆ มาตรการระยะยาว ประกอบด้วย การติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยที่ใช้งบประมาณสูง หรือต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการดำเนินการ เช่น การจัดทำทางม้าลายและสัญญาณไฟคนข้าม การติดตั้งราวกันอันตราย การปรับปรุงขยายทางเท้า และการสร้างเส้นทางสำหรับผู้ใช้จักรยาน

โครงการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานครด้วยมาตรฐานนานาชาติ (iRAP) นี้ ได้มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร ในการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ทั้งปัญหาด้านกายภาพของถนนที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน เป็นการเริ่มต้นปรับปรุงโครงข่ายตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGS) และเป็นการตอบสนององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร "เดินทางดี ปลอดภัยดี" อีกด้วย